การพัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศสำหรับเด็กเล็ก

โดยทั่วไปแล้ว ชีวิตวัยน้อยๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไร้เดียงสา ใสสะอาด และย่อมเป็นที่ปรารถนาให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข     แต่ในบางครั้ง  สิ่งที่สังคมพบ คือ การที่เด็กถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ

 

สถิติของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมีแนวโน้มที่สูงขึ้น  คดีความผิดทางเพศที่พิจารณาเสร็จในคดีอาญาของศาลชั้นต้นและศาลเยาวชน ทั้งเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา เด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี และความผิดเกี่ยวกับการอนาจารมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ในช่วง 5 ปี จาก 6,056 คดี เป็น 10,094 คดี (ในปี 2550) และในระหว่างปี 2549-2550 เด็กถูกทำร้ายเพศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 จาก 4,804 ราย เป็น 6,020 ราย  


สำหรับบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ  ก็พบว่า  สถิติของเด็กโดยเฉพาะเด้กเล็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่มารับความช่วยเหลือในระยะ 2 -3 ปีที่ผ่านมา ก็สูงขึ้นเช่นกัน 
บ้านเด็กของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ฯ จึงได้พัฒนาโปรแกรมชุดกิจกรรมเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศสำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียนขึ้น เน้นกิจกรรมที่เพิ่มทักษะชีวิต การรักตัวเอง ทำให้เด็กสามารถแยกแยะ ความรู้สึกที่ดี และไม่ดีได้  การสื่อสารและการดูแลตัวเองไม่ให้ถูกแกล้ง  ถูกกดดันจากเพื่อนหรือเด็กที่โตกว่า รวมทั้งจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ


ชุดกิจกรรมเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศสำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียนนี้  อาศัยโปรแกรมของประเทศ นิวซีแลนด์ Feeling Safe , Feeling O.K. เป็นกรอบ และนำมาดัดแปลงเพื่อเข้าบริบทไทยโดยทีมงานบ้านเด็กของสมาคมฯ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชุดกิจกรรม 12 กิจกรรมย่อย ดังนี้
  • ชุดที่ 1. เนื้อหาสอนให้เด็กรู้จักอวัยวะในร่างกายและการดูแลรักษา
  • ชุดที่ 2. เด็กจะสามารถแยกแยะอารมณ์ ความรู้สึก การแสดงออกทางสีหน้า สัมผัส และบอกได้ว่าชอบไม่ชอบ
  • ชุดที่ 3. การปฏิบัติตนเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ ให้ทักษะแก่เด็กในการเล่าเรื่อง บอกกล่าวแก่ผู้ใหญ่เมื่อรู้สึกถึงความใปลอดภัย
  • ชุดที่ 4. วิธีป้องกันตนเองจาการล่วงละเมิดทางเพศ
              

เมื่อพัฒนาแล้วได้มาทดลองใช้กับเด็กระดับชั้นอนุบาลในโรงเรียนนำร่อง 2 โรงเรียน ในเขตดอนเมือง  คือ โรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา นักเรียน 31 ราย (11- 22 กุมภาพันธ์ 2551)  และ โรงเรียนธรรมมาภรณ์  นักเรียน 33  ราย (3 กุมภาพันธ์- 27 มีนาคม 2551)

เนื่องจากผลตอบกลับในเบื้องต้นจากโรงเรียนนำร่อง   สมาคมฯ จึงเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์หากได้เผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่ดูแลเด็กเล็กด้วย   จึงได้มีโครงการที่จะเสริมสร้างศักยภาพของศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาลในเขตดอนเมืองขึ้น เพื่อให้สามารถนำกิจกรรมต่างๆไปใช้ได้  เริ่มต้นด้วยการจัดประชุมเพื่อขอคำปรึกษาจากผู้บริหารโรงเรียน/ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในเขตดอนเมือง  เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม  2551 จำนวน 36 คน จาก 15 โรงเรียน ซึ่งผู้บริหารให้ความสนใจที่จะนำไปใช้  สมาคมฯ จึงได้จัดการอบรมการใช้ชุดกิจกรรมนี้ให้กับคุณครูชั้นอนุบาลโรงเรียนและศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในละแวกเขตดอนเมือง จำนวน  2 รุ่น คือ
  • รุ่นที่ 1 วันที่  21-22 สิงหาคม 2551 มีผู้เข้าอบรม 32  ราย จาก  8  โรงเรียน  ได้แก่  โรงเรียนประชาอุทิศ, โรงเรียนธนินธรวิทยา, โรงเรียนเจริญวิทย์ศึกษา, โรงเรียนพหลโยธิน, โรงเรียนเปรมประชา, โรงเรียนวัดเวฬุวนาราม, โรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา และโรงเรียนวัดดอนเมือง
  • รุ่นที่ 2 วันที่  28-29 สิงหาคม 2551 มีผู้เข้าอบรม 31  ราย จาก  9  โรงเรียน  ได้แก่ โรงเรียนประชาอุทิศ, โรงเรียนธรรมมาภรณ์, โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง, ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดสีกัน,  ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนปิ่นเจริญ2,  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นปอ.,  ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดพรหมรังสี, ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนพัฒนาตลาดกลาง และโรงเรียนวัดดอนเมือง

ในการอบรมดังกล่าว สมาคมฯได้รับความกรุณาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยคือ ดร.พัชรี ผลโยธิน จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) อาจารย์ราศี  ทองสวัสดิ์ (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสามเสน) และอาจารย์สุรินทราภรณ์  อนันต์มหาพงศ์      เป็นวิทยากรหลัก  

ในช่วงเทอม 2 ของปีการศึกษา  2551   โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก 16 แห่งในเขตดอนเมืองได้นำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ในโรงเรียนของตน  ผลการตอบรับจากการติดตามผล เป็นที่น่าพอใจ  ทุกโรงเรียนเห็นความสำคัญ โดยมีแนวดำเนินงานต่างกันไป  เช่น โรงเรียนอนุบาลของกรุงเทพมหานคร ได้นำหลักสูตรแบ่งหัวข้อบูรณาการเข้าไปในชั่วโมงเรียนที่มีสาระเกี่ยวข้อง ส่วนโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่  ดำเนินการหลักสูตรแบบต่อเนื่องทีละชุดการเรียน   คุณครูเห็นประโยชน์  และเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กในเรื่องการดูแลตนเอง  สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่บ้านเด็ก ในบ้านพักฉุกเฉิน ได้รับจากการใช้ชุดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง คือ เด็กรู้จักรักษาสิทธิเนื้อตัวของตัวเอง รู้จักปฏิเสธ รู้จักบอกว่าชอบ-ไม่ชอบ และโดยเฉพาะในเด็กที่ประสบปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศ ยอมเล่าเรื่องที่เป็นความลับ ที่เด็กรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งทำให้ง่ายในการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิด

ปัจจุบัน สมาคมฯกำลังปรับคู่มือการทำกิจกรรมอีกครั้ง  เพื่อเผยแพร่ให้แก่โรงเรียน / ศูนย์เด้กเล็กที่สนใจต่อไป   

“เป็นความภูมิใจที่ทำให้เด็กไทยรู้จักรักษาสิทธิในขั้นต้น และถ้ามีสิ่งผิดปกติหรือความไม่สบายใจเกิดขึ้น เด็กสามารถบอกเล่าแก่ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ ซึ่งนำไปสู่การป้องกันตัว และทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเองเมื่อเขาโตขึ้น” คุณนวมัย นาคธน หัวหน้าคณะผู้ดำเนินการอบรมหลักสูตร

บ้านเด็ก  สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
02 929 2301